วันนี้พามาอีกหนึ่งสถานที่ของจังหวัดสงขลากันหน่อยครับ ออกจากเมืองหาดใหญ่ มาในสงขลากันบ้างครับ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา” สถานที่สำคัญของเมืองสงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม เป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลาตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลาอันทำให้บ้านเมืองใน ละแวกใกล้เคียงมีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมจีน เรามาอ่านประวัติของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกันคร่าวๆก่อนนะครับ
ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา
ตั้งอยู่ที่ถนนนางงามเป็นโบราณสถานสมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบเก๋งจีน สร้างสมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ภายในศาลเป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ โดยมีความเป็นมา ดังนี้ ในปี พ.ศ. 2385 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดการฝังหลักชัยเมืองสงขลา ทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักชัยต้นหนึ่งกับเทียนชัยเล่มหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ และโปรดเกล้าฯ ให้พระอุดมปิฏกออกไปเป็นประธานด้านพุทธพิธี พร้อมด้วยฐานานุกรมเปรียญ 8 รูป และโปรดเกล้าณ ให้พระครูอัฏฏาจารย์พราหมณ์ออกไปเป็นประธานฝ่ายพิธีพราหมณ์ 8 นาย งานฝังหลักชัยเริ่มด้วยพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลา ได้เกณฑ์กรมการและไพร่ จัดการทำโรงพิธีใหญ่ขึ้นกลางเมืองสงขลา คือ หน้าศาลเจ้าหลักเมือง ถนนนางงาม อำเภอเมือง โดยตั้งโรงพิธี 4 ทิศ ในวันพิธีได้จัดขบวนแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์กับเทียนชัยเป็นขบวนใหญ่ มีทั้งพวกชาวจีนและ ชาวไทยเพื่อแห่ไปยังโรงพิธีพระสงฆ์ราชา คณะฐานานุกรมเจริญพระปริตร พร้อมกับพระครูสวดตามไสยเวท เมื่อได้เวลาอุดมฤกษ์ เดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1204 (พ.ศ.2385) เวลา 7 นาฬิกา 10 นาที ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฏาจารย์ พราหมณ์ อัญเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังที่ใจกลางเมืองสงขลา ซึ่งเรียกกันว่า “หลักเมือง” จนทุกวันนี้ ภายหลังการฝังหลักเมืองเสร็จตามพิธีแล้ว มีมหรสพสมโภช 5 วัน 5 คืน ในงานมีทั้งละครหรือโขนร้อง 1 โรง หุ่น 1 โรง งิ้ว 1 โรง ละครชาตรี (โนรา) 4 โรง พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระพระสงฆ์ 22 รูป ต่อมาพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ให้ช่างสร้างตึกคร่อมหลักเมืองไว้ 3 หลังเป็นตึกจีนและสร้างศาลเจ้าเสื้อเมืองอีกหนึ่งหลัง ครั้น พ.ศ. 2460 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้มีลายพระหัตถ์แจ้งว่าหลักเมืองจังหวัดสงขลาปลวกกัดชำรุด พ่อค้าและประชาชนจังหวัดสงขลา จะช่วยกันออกเงินทำเสาหลักเมืองด้วยซีเมนต์คอนกรีต เพื่อจะได้อยู่อย่างถาวร อุดมฤกษ์ในการวางเสาหลักเมือง ตรงกับวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2460 ตรงกับเดือน 4 แรม 4 ค่ำ เวลา 7 นาฬิกา 22 นาที 36 วินาทีก่อนเที่ยง โหรสี่คนถือก้อนดินยืนประจำทั้ง 4 ทิศ แล้ววางก้อนดินลงในหลุมหลักเมือง จากนั้นจึงเชิญเสาหลักลงหลุมแล้วกลบดินเป็นปฐมฤกษ์ จนถึงเวลา 8 นาฬิกา กับ 41 นาที 36 วินาที ก่อนเที่ยง ถือเป็นฤกษ์ดีที่สุด (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ,2460: ม. 12/19) เสาหลักเมืองนี้จึงอยู่คู่เมืองสงขลา และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสงขลา ตราบจนทุกวันนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนศาลเจ้าหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยมีอาณาเขต คือ ทิศเหนือ ยาว 13 วา ทิศตะวันออก ยาว 1 เส้น 5 วา ทิศใต้ ยาว 13 วา ทิศตะวันตก ยาว 1 เส้น 5 วา
ภายในศาลหลักเมืองจะมีพื้นที่บริเวณกว้างๆ ในนั้นมีโรงงิ้วเก่าๆ ใต้โรงงิ้วนั้นเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว ที่เขาเรียกกันว่า “ก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว” เป็นก๋วยติ๋วที่อาศัยขายใต้โรงงิ้วนี้มานานกว่า 50 ปีแล้วถือเป็นสถานที่จูงใจนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ มีรายการทีวีมาถ่ายแล้วนับไม่ถ้วย เพราะแปลกดีแฮะ แถมก๋วยเตี๋ยวยังอร่อยอีกด้วย
เรามาดูบรรยากาศ ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลากันดีกว่าครับ เริ่มจากประตูทางเข้าเลยครับ นี้ถ่ายจากด้านในนะครับ
เดินเข้ามาจะเจอศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีสีสันสีแดง ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในมีองค์เทพต่างๆให้สักการะบูชาครับ ไปชมภาพภายในกันเลยครับผม
ตรงบริเวณเสาหลักเมืองจะมีทองติดอยู่เต็มไปหมดแล้วก็มีผู้คน นำเหรียญไปวางไว้บริเวณรอบเสาเต็มไปหมด ข้างล่างก็มีครับ สอบถามเค้าบอกว่านำเหรียญไปวาง 9 เหรียญ เป็นความเชื่อให้เป็นสิริมงคล ค้าขาย การงาน ชีวิต อยู่ดีมีสุขครับ ^_^
หมดแล้วครับรูป พอจะชมรูป + รู้ประวัติคร่าวๆบ้างแล้วนะครับ อย่าลืมครับใครผ่านไปก็อย่าลืมแวะไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลนะครับ
ที่่ตั้งอยู่บนถนน นางงามครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น